คุณเชน ใจซื่อ

ประธานกรรมการบริหาร - บริษัท นิวตริริช จำกัด

 

การศึกษา

ประถมศึกษาปีที่ 4

 

ประวัติส่วนตัวและประวัติการทำงาน

นายเชน  ใจซื่อ เป็นบุตรของ นายพงษ์  ใจซื่อ และนางใช้  ใจซื่อ  ซึ่งมีพี่น้องทั้งหมด 7 คน ประกอบไปด้วยพี่สาว 3 คน  และน้องสาว 3 คน โดยที่ตนเป็นบุตรชายเพียงคนเดียวของครอบครัว  ในขณะนั้นอาชีพหลักของครอบครัวคือเกษตรกรรมไร่อ้อย ฐานะทางครอบครัวอยู่ในระดับปานกลาง จึงได้จบการศึกษาเพียงชั้นประถมสี่ ตามเกณฑ์การศึกษาที่ทางการสมัยนั้นกำหนด เมื่อเติบใหญ่จึงได้สมรสกับคุณนุชจรี และมีบุตรธิดาร่วมกัน 2 คน พร้อมทั้งหันมาทำการเพาะปลูกมะนาว ควบคู่ไปกับการพัฒนาด้านเกษตรอินทรีย์จนมีชื่อเสียง และคิดค้นปุ๋ยอินทรีย์ที่มีคุณสมบัติเหมาะสมต่อการเพาะปลูกพืชได้เป็นอย่างดี

เริ่มจากการเป็นชาวไร่อ้อยตั้งแต่เด็ก ผันตัวเองมาเป็นชาวกสิกร เพาะเลี้ยงสัตว์ ไม่ว่าจะเป็น โคขุน กระต่าย วัว และอื่น ๆ อีกหลายประเภท ซึ่งในขณะนั้นได้เป็นเจ้าหน้าที่ประจำมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ กำแพงแสนด้วย หลังจากได้เป็นชาวกสิกรเป็นเวลา 4 ปี ได้ผันตัวเองมาเป็นชาวเกษตรกร โดยมีความมุ่งมั่นที่จะพัฒนาด้านการปลูกสวนมะนาวอย่างจริงจัง จนเป็นชาวสวนมะนาวที่ได้รับความเชื่อถือจากเกษตรกร และสถานศึกษาหลายแห่ง ว่าเป็นผู้เชี่ยวชาญด้านการเกษตร จนได้รับรับเชิญเป็นวิทยากรพิเศษ บรรยายให้กับผู้สนใจเป็นจำนวนมาก พร้อมทั้งได้คิดค้นปุ๋ย และสารป้องกันกันศัตรูพืชที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมและสิ่งมีชีวิต ที่เรียกว่า ปุ๋ยอินทรีย์ และสารอินทรีย์ป้องกันศัตรูพืช เป็นของตนเองได้สำเร็จ จนสามารถตั้งโรงงานผลิตปุ๋ยอินทรีย์ และสารอินทรีย์ป้องกันศัตรูพืช ที่มีคุณภาพ ภายใต้เครื่องหมายการค้าหลายร้อยชนิด ซึ่งผลิตภัณฑ์การเกษตรที่มีชื่อเสียงในขณะนี้คือ  “ดาวปูแดง”

 

นโยบายและอุดมการณ์ในการทำงาน

1. ความรู้ หรือภูมิปัญญาที่มีอยู่นั้น ต้องถ่ายทอดให้แก่คนที่สนใจ และเกษตรกรให้ทั่วถึง เพื่อสร้างประโยชน์ให้แก่ประชาชน ผู้คนในท้องถิ่น และประเทศชาติ สามารถพึ่งพาตนเองได้ด้วยปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง

2. ปัญหาที่พบทุกปัญหาย่อมมีทางแก้ แต่ต้องใช้สติและปัญญาเข้าแก้ไข

 

ความสำเร็จในชีวิตการทำงาน

1. สามารถเป็นเกษตรกรที่เป็นแบบอย่างให้กับเกษตรกรไทย ที่มีความพยายามที่จะพัฒนา ต่อยอดความรู้ ทางเกษตรกรรมด้านเกษตรอินทรีย์ได้สำเร็จ

2. พัฒนาเกษตรอินทรีย์ที่เกิดจากภูมิปัญญา และความรู้พื้นฐานทางวิทยาศาสตร์ เข้าสู่กระบวนการทางอุตสาหกรรม และการพาณิชย์ จนเป็นที่รู้จักกันอย่างแพร่หลายในวงการเกษตรกรรม

3. สร้างเครือข่ายเกษตรอินทรีย์ ที่มีการพัฒนาอย่างต่อเนื่อง และยั่งยืน บนพื้นฐานของเศรษฐกิจพอเพียงด้วยผลิตภัณฑ์ที่ตนเป็นผู้ผลิต คิดค้น ให้กับเกษตรกรไทย ได้สำเร็จ

 

ความภาคภูมิใจและรางวัลเกียรติยศที่ได้รับ

1. ได้รับเกียรติให้เป็นวิทยากรด้านการเกษตรให้แก่ผู้สนใจ หน่วยงานราชการ สถานศึกษา ทั้งในพื้นที่อำเภอสองพี่น้อง จังหวัดสุพรรณบุรี และจังหวัดใกล้เคียง ตั้งแต่ปี 2540

2. ได้รับความไว้วางใจให้ดำรงตำแหน่งต่าง ๆ จากหน่วยราชการ เช่น อาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้าน อาสาพัฒนาชุมชนและผู้นำอาสาพัฒนาชุมชน สารวัตรกำนันตำบลทุ่งคอก ผู้สื่อข่าวกระทรวงพาณิชย์

 

ทรรศนะต่อวงการวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี

วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี สามารถพัฒนาสิ่งต่าง ๆ ให้มีความเจริญก้าวหน้าได้ ด้วยหลักการของเหตุและผล วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีการเกษตร ก็เป็นอีกทางหนึ่งที่สามารถทำให้เกษตรกร สามารถรับมือกับปัญหาที่เกิดขึ้นกับพืชพรรณ ที่เกษตรกรได้เพาะปลูกลงไป ดังนั้น การพัฒนาด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีการเกษตร ก็จะทำให้เกษตรสามารถเพิ่มผลผลิตทางการเกษตร และสร้างรายได้ให้กับครอบครัวได้อย่างยั่งยืน

 

กิจการอันเป็นประโยชน์เพื่อสังคม สาธารณกุศล

ต่อชุมชน

ให้การสนับสนุนสถานศึกษาภายในท้องถิ่น ทั้งการเป็นวิทยากร ให้ความรู้ พร้อมสนับสนุนวัสดุอุปกรณ์ทางการเกษตรพร้อมทั้งพืชพรรณทางการเกษตร เพื่อการศึกษาของบุตรหลานของคนในชุมชน ให้ได้เรียนรู้กระบวนการทางการเกษตรอย่างถูกต้อง และสามารถนำไปประกอบอาชีพได้ในอนาคต

 

ต่อสาธารณชน

คิดค้นปุ๋ยอินทรีย์ และสารป้องกันศัตรูพืช ที่มีคุณภาพ เหมาะสมต่อการนำไปใช้ในการเพาะปลูกแบบเกษตรอินทรีย์ ทำการเผยแพร่ความรู้ด้านการเกษตรในทุกด้าน ไม่ว่าการเพาะปลูก การดูแลรักษา การบำรุงรักษา การใช้สารป้องกันศัตรูพืช การขยายพันธุ์พืช โดยเปิดเป็นสถานที่ให้ความรู้ด้านการเกษตร ให้แก่บุคคลทั่วไป สถานศึกษา สถานที่ราชการ เข้าศึกษาดูงาน โดยที่ตนเป็นวิทยากรในการบรรยาย ทั้งภาคทฤษฎี และภาคปฏิบัติ เช่น ผู้ผลิตรายการโทรทัศน์ รายการด้วยลำแข้ง รายการสรรหามาเล่า รายการเบิกฟ้ากับเกษตร รายการเวทีชาวบ้าน รายการวิถีชาวบ้าน สำนักงานเกษตรอำเภอสุวรรณภูมิ จังหวัดร้อยเอ็ด สถาบันราชภัฏกาญจนบุรี กรมการจัดหางาน สถาบันราชภัฏนครราชสีมา สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ (NIDA) ศูนย์ฝึกวิชาชีพทหารกองประจำการ

 

หลักปฏิบัติต่อครอบครัว

เนื่องจากครอบครัว เป็นพื้นฐานสำคัญในการดำเนินชีวิต ดังนั้น การให้ความสำคัญแก่ครอบครัว จึงเป็นสิ่งที่สำคัญอีกประการหนึ่ง นอกเหนือจากการบริหารงานด้านการเกษตร และธุรกิจ โดยยึดหลักการดูแลครอบครัวดังนี้

1. ให้ความรัก ความเอาใจใส่ แก่ภรรยา บุตร ธิดา

2. สร้างความเข้าใจ ด้วยการพูดคุยอย่างเปิดใจกันภายในครอบครัว เพื่อลดช่องว่างระหว่างวัย

3.  จัดสรรเวลาอย่างเหมาะสมให้แก่ครอบครัว เพื่อสร้างความอบอุ่น และความสนิทสนมซึ่งกันและกันภายในครอบครัว

4. รับฟังความคิดเห็นจากภรรยา และร่วมกันตัดสินใจ แก้ปัญหาตามหลักเหตุและผล

5. ดูแลครอบครัวด้วยหลักธรรมของพระสัมมาสัมพุทธเจ้า คือ พรหมวิหาร 4 ซึ่งประกอบด้วย เมตตา กรุณา มุทิตา  อุเบกขา เพื่อให้ครอบครัวอยู่อย่างร่มเย็นเป็นสุข

 

การใช้เวลาว่าง

 

เนื่องด้วยตนเป็นผู้รักการศึกษาหาความรู้ และคิดเสมอว่าความรู้ไม่ได้อยู่เพียงแต่ในห้องเรียน หรือห้องสมุดเท่านั้น ดังนั้น ตนจึงได้ใช้เวลาว่างในการอ่านหนังสือต่าง ๆ และสนทนากับผู้รู้แขนงต่าง ๆ พร้อมทั้งนำความรู้เหล่านั้นมาทดลอง เพื่อให้เกิดการตกผลึกของความรู้ จนสามารถนำมาพัฒนาให้เกิดประโยชน์ต่อไปได้

มูลนิธิสภาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งประเทศไทย (มสวท.)

กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี

สถานที่ติดต่อ :

288/52 อาคารมูลนิธิ มสวท. ถนนพหลโยธิน แขวงอนุสาวรีย์ เขตบางเขน กรุงเทพมหานคร 10220

Tel. +66(0) 2552-5200 Fax. +66(0) 2551-4422 Email : thaifstt@gmail.com 

Copyright © 2008-2015 หากมีปัญหาในการรับชมกรุณาติดต่อ Webmaster ที่ admin@thaifstt.org