ดร.ประสิทธิ์ ทีฆพุฒิ ประธานมูลนิธิ และทีมจิตอาสา ได้เดินทางไปวัดจากแดง ต.ทรงคนอง อ.พระประแดง จ.สมุทรปราการ เมื่อวันที่ 28 สิงหาคม 2564 เพื่อนำขยะขวดพลาสติกใส PET ถุงพลาสติกใสที่ใช้แล้ว  ไปบริจาคให้กับทางวัดจากแดงเพื่อใช้เป็นวัตถุดิบในการผลิตจีวรนาโน และกล่องนม UHT นำไปใช้ผลิตเป็นฝากั้นห้อง ทำกุฏิพระจากกล่องนม กุฏิรีไซเคิล สำหรับพระวัดจากแดง พร้อมทั้งยังได้ร่วมบริจาคเงินทำบุญกับทางวัด ซึ่งปัจจุบัน (ในช่วงสถานการณ์โควิด-19) มีพระภิกษุบวชเรียน ประมาณ 51 รูป ซึ่งการบริจาคฯในครั้งนี้ดำเนินการภายใต้โครงการร่วมใจรักษ์สิ่งแวดล้อมครั้งที่ 5

 

การดำเนินโครงการร่วมใจรักษ์สิ่งแวดล้อมครั้งที่ 5 นี้ เป็นโครงการสืบเนื่องที่มูลนิธิ มสวท. ได้ดำเนินการมาตั้งแต่ต้นปี พ.ศ. 2563 เรื่อยมาจนถึงปัจจุบัน ซึ่งประเทศไทยกำลังเข้าสู่ช่วงการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 ในระลอกที่ 4 เนื่องจากเชื้อไวรัสกลายพันธุ์เพิ่มขึ้น ซึ่งรัฐบาลได้ประกาศขอความร่วมมือให้องค์กรและหน่วยงานต่างๆทั้งภาครัฐและเอกชนให้ใช้นโยบายทำงานจากที่บ้าน (work from home) รวมถึงนักเรียน นิสิต นักศึกษา ก็ให้เรียนหนังสือผ่านออนไลน์ด้วยเช่นกัน เพื่อลดการแพร่เชื้อ โควิด 19 โดยเฉพาะในเขตกรุงเทพมหานครและปริมณฑลที่มียอดผู้ติดเชื้อจำนวนมากกว่าพื้นที่อื่นๆในประเทศ ส่งผลให้พฤติกรรมผู้บริโภคในกรุงเทพมหานครเปลี่ยนแปลงไป โดยประชาชนส่วนใหญ่นิยมหันมาสั่งซื้ออาหารและเครื่องดื่มแบบเดลิเวอรี่กันเป็นจำนวนมาก ซึ่งทำให้เกิดปัญหาขยะพลาสติกและโฟมเพิ่มขึ้นหลายเท่าตัว ดังนั้น ดร.ประสิทธิ์ และทีมงานจิตอาสา จึงได้ร่วมกันดำเนินการเก็บ รวบรวม และคัดแยกขยะพลาสติกและกล่องโฟมที่เกิดขึ้นในชีวิตประจำวัน เพื่อนำไปบริจาคที่วัดจากแดง จังหวัดสมุทรปราการ เพื่อเข้าสู่กระบวนกำจัดขยะเหล่านี้ให้เป็นผลผลิตใหม่ ที่นำกลับมาให้ใช้งานได้ อีกทั้งยังเป็นการสร้างงานให้กับคนยากจนและด้อยโอกาสที่วัดจากแดงได้ดูแล ถือว่าเป็นวิธีการกำจัดขยะที่ถูกสุขลักษณะและเกิดประโยชน์สูงสุดทั้งต่อสังคม สิ่งแวดล้อม และประเทศชาติ ซึ่งหน่วยงานหรือองค์กรต่างๆ สามารถนำวิธีการนี้ไปเป็นตัวอย่างในการดำเนินกิจกรรมเพื่อสังคมและสิ่งแวดล้อมต่อไป 

 

ขยะพลาสติกที่นำไปบริจาคครั้งนี้ ส่วนใหญ่เป็น ขวดพลาสติกใสที่ใช้บรรจุน้ำดื่ม หรือที่เรานิยมเรียกกันว่า ขวด PET (Polyethylene Terephthalate : โพลีเอทิลีน เทเรฟทาเลต) ซึ่งเป็นพลาสติกที่เหมาะสำหรับนำไป Recycle เพื่อทอเป็น ผ้าไตรจีวร หรือ ผ้าบังสุกุล โดยใช้นวัตกรรมผสม ซิงค์ นาโน (Zinc Nano) ที่สามารถป้องกันแบคทีเรีย ลดกลิ่นอับ มีความนุ่ม ระบายอากาศได้ดี เหมาะสมกับสภาพอากาศร้อนอบอ้าวในเมืองไทย กระบวนการทำขยะพลาสติกให้กลายเป็น “จีวรรีไซเคิล” 1 ผืน จะต้องใช้ขยะประเภทขวดพลาสติก PET จำนวน 15 ขวด และถ้าเป็นผลิตเป็นผ้าไตรจีวร 1 ชุด จะต้องใช้ขวด PET จำนวน 60 ขวด โดยใช้เทคโนโลยี Upcycling ซึ่งเป็นนวัตกรรมการแปรรูปขยะให้เป็นเส้นใยรีไซเคิล แล้วจึงถักทอผสมผสานกับเส้นใย Polyester Rayon เส้นใยฝ้าย และเส้นใย โพลีเอสเตอร์ ซิงค์ แอนตี้แบคทีเรีย (Polyester Zinc Antibacterial) ที่สามารถป้องกันแบคทีเรีย ลดกลิ่นอับ มีความนุ่ม ระบายอากาศได้ดี เหมาะสมกับสภาพอากาศร้อนอบอ้าวในเมืองไทย

 

 

 

 พลาสติก สามารถนำใช้ในชีวิตประจำวันของมนุษย์ได้หลากหลายประเภท หลากหลายประโยชน์มากมาย แต่ขยะพลาสติกนั้นใช้เวลายาวนานกว่า 450 ปี ในการย่อยสลาย ดังนั้น หากทุกคนช่วยกันคัดแยก และเก็บรวบรวมขยะพลาสติก แล้วส่งต่อไปยังสถานที่ที่มีความสามารถในการแปรรูปหรือนำขยะพลาสติกเหล่านี้กลับมาใช้ประโยชน์ใหม่ได้อีก ย่อมเป็นการใช้ประโยชน์จากพลาสติกได้อย่างคุ้มค่า (เพราะทรัพยากรในโลกนี้มีอยู่จำกัด) เป็นการช่วยลดปัญหามลพิษต่อสิ่งแวดล้อม ลดปริมาณการทำลายระบบนิเวศ และยังช่วยลดภาวะโลกร้อนได้เป็นอย่างดี

มูลนิธิสภาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งประเทศไทย (มสวท.)

กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี

สถานที่ติดต่อ :

288/52 อาคารมูลนิธิ มสวท. ถนนพหลโยธิน แขวงอนุสาวรีย์ เขตบางเขน กรุงเทพมหานคร 10220

Tel. +66(0) 2552-5200 Fax. +66(0) 2551-4422 Email : thaifstt@gmail.com 

Copyright © 2008-2015 หากมีปัญหาในการรับชมกรุณาติดต่อ Webmaster ที่ admin@thaifstt.org