ทำเนียบเกียรติยศ (Hall of Fame)

บุคคลคุณภาพแห่งปี 2011 ด้านเด็กและเยาวชน

 

 

คุณปวีณา หงสกุล (อายุ 61 ปี)

(ประธานมูลนิธิปวีณาหงสกุลเพื่อเด็กและสตรี)

 

1. หน้าที่ความรับผิดชอบในปัจจุบัน        

ประธานมูลนิธิปวีณาหงสกุลเพื่อเด็กและสตรี

 

2. ประวัติการศึกษา

- สำเร็จการศึกษาปริญญาโท ศิลปศาสตรมหาบัณฑิต สาขาวิชาเศรษฐศาสตร์การเมือง คณะเศรษฐศาสตร์  จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

- สำเร็จการศึกษาปริญญาโท ศิลปศาสตรมหาบัณฑิต คณะรัฐศาสตร์  มหาวิทยาลัยรามคำแหง

- สำเร็จการศึกษาปริญญาตรี ศิลปศาสตร์บัณฑิต คณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยรามคำแหง

- สำเร็จการศึกษาประกาศนียบัตรชั้นสูง วิทยาลัยพระปกเกล้ารุ่น 1

- สำเร็จการศึกษา  Bachelor  Of  Commerce  Bliss  College  เมืองโคลัมบัส มลรัฐโอไฮโอ    สหรัฐอเมริกา

- สำเร็จการศึกษาโรงเรียนเคนยอน เร เมธอดิสต์ เกิร์ล สกูล ปีนัง มาเลเซีย (Kenyon Rae Methodist Girls School )

- สำเร็จการศึกษาโรงเรียนสตรีวรนาถ บางเขน กรุงเทพมหานคร

 

3. นโยบายและอุดมการณ์ในการทำงาน

บุคคลย่อมมีสิทธิและเสรีภาพเท่าเทียมกัน

 

4.ความสำเร็จในชีวิตการทำงาน

สามารถช่วยเหลือผู้ที่ถูกละเมิดสิทธิถูกทารุณกรรมในรูปแบบต่างๆให้สามารถกลับมาใช้ชีวิตอยู่ในสังคมได้อย่างเป็นปกติสุข เพื่อเป็นกำลังสำคัญในการพัฒนาประเทศชาติให้มีความเจริญก้าวหน้า ทัดเทียมนานาประเทศ

 

5. ทรรศนะต่อวงการวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี   

ปี 2539-2541  ได้รับการแต่งตั้งจากสภาผู้แทนราษฎร ให้เป็นประธานคณะกรรมาธิการการวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี  ได้มีโอกาสเข้าร่วมทำงานกับหน่วยงานด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีทั้งในและต่างประเทศ  จึงทำให้เห็นความสำคัญของการวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี  ในยุคโลกาภิวัตน์ การวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ถือได้ว่ามีส่วนสำคัญในการพัฒนาประเทศให้เจริญก้าวหน้า ทัดเทียมนานาประเทศ  ไม่ว่าจะเป็น ระบบพลังงาน ระบบขนส่งต่างๆ  ต้องใช้วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีเข้ามาพัฒนาทั้งสิ้น

 

6. กิจการอันเป็นคุณประโยชน์เพื่อสังคม สาธารณะ           

การทำงานช่วยเหลือสังคมร่วมกับมูลนิธิปวีณาหงสกุลเพื่อเด็กและสตรี คุณปวีณาได้รับการแต่งตั้งจากสำนักนายกรัฐมนตรี เมื่อปี พ.ศ. 2538 ให้เป็นประธานคณะกรรมการเร่งรัดและประสานการปฏิบัติงานเยาวชนและภาครัฐและเอกชน สำนักนายกรัฐมนตรี โดยได้จัดตั้ง “ชุดเฉพาะกิจ” ขึ้น เพื่อให้ความช่วยเหลือเด็กและสตรีที่ถูกละเมิดสิทธิและถูกทารุณกรรมในรูปแบบต่างๆ อย่างจริงจังและต่อเนื่องบังเกิดผลเป็นรูปธรรม จนมีผู้ประสบเคราะห์กรรมต่างๆได้เข้ามาขอรับความช่วยเหลือเป็นจำนวนมากทวีขึ้นอย่างรวดเร็ว อย่างไรก็ดี “ชุดเฉพาะกิจ” ที่ได้จัดตั้งโดยอาศัยอำนาจหน้าที่ทางราชการโดยตรงนี้ ได้แปรเปลี่ยนไปตามความเปลี่ยนแปลงของการเมือง ไม่สอดคล้องกับปณิธานของคุณปวีณาที่ต้องการดำเนินการช่วยเหลือเด็กและสตรีที่ประสบเคราะห์กรรมอย่างยั่งยืนถาวรตลอดไป โดยไม่ผูกติดกับตำแหน่งที่ในทางราชการและการเมือง

แม้ว่า “ชุดเฉพาะกิจ” ดังกล่าว ได้รับการสนับสนุนจากรัฐบางส่วนได้จบสิ้นไปแล้วเป็นเวลานาน แต่การดำเนินการช่วยเหลือเด็กและสตรีที่ถูกละเมิดสิทธิทางเพศและถูกทารุณกรรมในรูปแบบต่างๆ ก็มิได้จบสิ้นลงไปด้วย คุณปวีณายังคงดำรงความมุ่งหมายจัดตั้งชุดเฉพาะกิจ “ปวีณาหงสกุลซึ่งมาปฏิบัติงานโดยขอความร่วมมือจากหน่วยราชการ และหน่วยงานภาคเอกชนต่างๆ เพื่อให้ความช่วยเหลือผู้ประสบเคราะห์กรรมเหล่านั้นสืบต่อมา ด้วยความคิดที่ว่าคนเรานั้นเลือกที่เกิดไม่ได้ แต่เลือกที่จะเป็นคนดีได้ ถ้าเขามีโอกาส ซึ่งการดำเนินการต่างๆ หลังจาก พ.ศ.2540 เป็นต้นมาจนถึงปัจจุบันเป็นการดำเนินการโดยใช้งบประมาณและทุนทรัพย์ส่วนตัวเป็นหลัก ต่อมาได้มีผู้เห็นความสำคัญของงานในโครงการนี้ซึ่งเป็นผู้ร่วมอุดมการณ์เดียวกันได้ให้ความอนุเคราะห์ เป็นโครงการสนับสนุนและการปฏิบัติงานร่วมกันกับ “มูลนิธิไลออนส์สากล” จากสหรัฐอเมริกา รวมทั้งผู้มีจิตศรัทธาที่ได้ร่วมบริจาคเงินช่วยเหลือการทำงานของมูลนิธิฯ

ในเวลาต่อมาได้มีมิตรสหายและผู้มีอุปการคุณได้ให้แนวคิดและสนับสนุนให้ก่อตั้งเป็นมูลนิธิฯ สำหรับผู้มีจิตเป็นกุศล และผู้ต้องการมีส่วนร่วมในการช่วยเหลือสังคมจะได้บริจาคเงินเพื่อเป็นทุนทรัพย์ในการดำเนินงานช่วยเหลือเด็กและสตรีต่อไป “มูลนิธิปวีณาหงสกุลเพื่อเด็กและสตรี” จึงได้ก่อตั้งขึ้นเมื่อ 27 เมษายน 2542 โดยมีวัตถุประสงค์ ดังนี้

1. เพื่อช่วยเหลือเด็กและสตรีที่ถูกละเมิดสิทธิ และถูกทารุณกรรม ถูกเอารัดเอาเปรียบในรูปแบบต่างๆ ตลอดจนการฟื้นฟูด้านร่างกายและจิตใจ

2. เพื่อช่วยเหลือเด็กและสตรีที่ได้รับเคราะห์กรรมและไร้ที่พึ่ง ให้สามารถดำรงชีวิตอยู่ในสังคมได้อย่างปกติสุข

3. เพื่อส่งเสริมและพัฒนารายได้ เสริมทักษะแก่เด็กที่ยากไร้และด้อยโอกาส

4. เพื่อส่งเสริมกิจกรรมด้านวัฒนธรรมไทย

จุดมุ่งหมายของมูลนิธิปวีณาหงสกุลเพื่อเด็กและสตรี ที่ตั้งขึ้นมานั้น จะทำในกรณีที่ได้รับการร้องขอหรือร้องเรียนให้เข้าไปช่วย ในกรณีที่เจ้าหน้าที่ของรัฐเข้าไปช่วยเหลือแล้วนั้นมูลนิธิฯจะไม่เข้าไปยุ่งเกี่ยวด้วย จะทำก็ต่อเมื่อเข้ามาร้องขอให้เข้าไปช่วย ไม่ว่าจะเป็นกรณีเด็กถูกข่มขืน โดนทารุณกรรม ถูกละเมิดสิทธิ ใช้แรงงานเด็กผิดกฎหมาย กรณีต่างๆเหล่านี้ เมื่อมูลนิธิฯได้รับการร้องทุกข์แล้วขั้นตอนต่อไปก็คือการเชิญเจ้าทุกข์เข้ามาที่มูลนิธิเพื่อให้ข้อมูล ถ้าเห็นว่ามีน้ำหนัก ก็จะส่งชุดเฉพาะกิจของมูลนิธิฯเข้าไปสืบก่อนล่วงหน้าว่าเป็นจริงที่ตามได้รับการร้องเรียนมาหรือไม่ ถ้าข้อร้องเรียนมีมูลก็จะประสานงานกับเจ้าหน้าที่ตำรวจ ซึ่งเจ้าทุกข์ได้ไปแจ้งความไว้แล้วเพื่อดำเนินการต่อไปเป็นการช่วยเหลือทางราชการอีกทางหนึ่ง และเมื่อมูลนิธิฯได้เข้าช่วยเหลือเด็กแล้ว ก็จะดูต่อไปว่าเด็กสามารถที่จะอยู่กับครอบครัวเดิมได้หรือไม่ ถ้ากรณีเด็กต้องการฟื้นฟูสภาพจิต หรือฝึกอาชีพ มูลนิธิฯก็จะประสานงานกับกระทรวงแรงงานและสวัสดิการสังคมต่อไป แต่สำหรับกระบวนการยุติธรรมต่างๆ มูลนิธิจะดูแลต่อไปจนสิ้นคดีนั้นๆ

จากผลการปฏิบัติงานของชุดเฉพาะกิจปวีณา หงสกุล เพื่อช่วยเหลือเด็กและสตรีได้ประสบผลสำเร็จเป็นอย่างดียิ่ง และได้รับความสนใจจากประชาชนและสื่อมวลชน ตลอดจนหน่วยงานที่เกี่ยวข้องทั้งภาครัฐและเอกชนก็ได้ให้ความร่วมมือด้วยดีตลอดมา เพราะประชาชนเป็นจำนวนมากที่ถูกละเมิดสิทธิ และผู้พบเห็นได้มาร้องเรียน เพื่อขอความช่วยเหลือในกรณีถูกละเมิดสิทธิ เช่น ล่อลวงค้าประเวณี ข่มขืน ทารุณกรรม ฯลฯ และคุณปวีณาได้ร่วมออกไปปฏิบัติการช่วยเหลือเด็กและสตรีที่ถูกละเมิดสิทธิ ได้ทันต่อเหตุการณ์ และสามารถนำผู้กระทำผิดมาลงโทษได้

 

7. รางวัลเกียรติยศหรือเครื่องราชอิสริยาภรณ์

เครื่องราชอิสริยาภรณ์

พ.ศ. 2542   มหาปรมาภรณ์ช้างเผือก (ม.ป.ช.)

พ.ศ. 2541   มหาวชิรมงกุฎไทย (ม.ว.ม.)

 

ความภาคภูมิใจและรางวัลเกียรติยศที่ได้รับ

1. ได้รับพระมหากรุณาธิคุณโปรดเกล้าฯให้ดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงแรงงานและสวัสดิการสังคม

2. ได้รับความไว้วางใจจากประชาชนเลือกให้เป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรกรุงเทพมหานคร  6  สมัย

3. ร่วมก่อตั้ง “มูลนิธิปวีณาหงสกุลเพื่อเด็กและสตรี”(องค์กรสาธารณประโยชน์) ให้ความช่วยเหลือพี่น้องประชาชนที่เดินทางมาร้องทุกข์ขอความช่วยเหลือจากทั่วประเทศ

4. ปี 2549 - 2553 ผลการสำรวจความคิดเห็นของประชาชนทั่วประเทศ จากสวนดุสิตโพล ในหัวข้อที่สุดแห่งปี นักการเมืองที่ประชาชนชื่นชอบมากที่สุดฝ่ายหญิง คือ นางปวีณา หงสกุล

5. ปี 2550 ได้รับรางวัลสตรีดีเด่นในพระพุทธศาสนา เนื่องในโอกาสวันสตรีสากลแห่งสหประชาชาติ

6. ปี 2549 ผลสำรวจความคิดเห็นประชาชนทั่วประเทศ จากศูนย์ประชามติมหาวิทยาลัยรามคำแหง “รามคำแหงโพล” เมื่อวันที่ 28 ธันวาคม 2549 ในหัวข้อ “สุดยอดคนดี 2549” ในส่วนของนักการเมืองหญิงที่เป็นคนดีมีคุณธรรม ระบุให้ นางปวีณา หงสกุล ได้คะแนนมากที่สุด

7. ปี 2548 สำนักงานคณะกรรมการสงเสริมการจัดสวัสดิการสังคมแห่งชาติได้ยกย่องให้ “มูลนิธิปวีณาหงสกุลเพื่อเด็กและสตรี” เป็นองค์กรสาธารณะประโยชน์

8. ปี 2547  ได้รับเข็มพระนามาภิไธยย่อ   “ส.ธ.”   พ.ศ. 2547 จากสมเด็จพระเทพพระรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี

9. ปี 2546  คณะกรรมการจัดงานเยาวชนแห่งชาติ  ได้รับมอบโล่เกียรติคุณให้ “มูลนิธิปวีณาหงสกุลเพื่อเด็กและสตรี” ในฐานะที่เป็นองค์กรที่ทำคุณประโยชน์ต่อเยาวชน สาขาสื่อมวลชนเพื่อเด็กและเยาวชนที่ป้องกันปัญหาสังคม  และผลการสำรวจความคิดเห็นจากศูนย์ประชามติ สถาบันวิจัยและพัฒนามหาวิทยาลัยรามคำแหง โดยสำรวจความคิดเห็นของเด็กอายุไม่เกิน 18 ปี ในเขตกรุงเทพมหานคร จำนวน 1,390 คน ในส่วนของนักการเมืองหญิงที่เด็กชื่นชอบมากที่สุดอันดับ 1คือ  นางปวีณา หงสกุล

10. ปี 2545 คณะกรรมการจัดงาน สตรีดีเด่นแห่งปี ได้มอบรางวัล “สตรีดีเด่นตัวอย่างแห่งปี ประจำปี 2545”  สาขาเพื่อสิทธิเด็กและสตรีให้  “นางปวีณา  หงสกุล

11. ปี 2544  (1 พ.ค. 2544) ดุสิตโพลได้สำรวจความคิดเห็นของผู้ใช้แรงงาน นักการเมืองหญิงที่ผู้ใช้แรงงานเห็นว่าเป็นที่พึ่งได้ อันดับ 1 คือ ส.ส. ปวีณา  หงสกุล และผลการสำรวจความคิดเห็น ระหว่างวันที่  1 - 30  ธ.ค. 2544  จากสวนดุสิตโพล สถาบันราชภัฎสวนดุสิต ประชาชนทั่วประเทศ จำนวน 24,891 คน เห็นว่านักการเมืองหญิงที่ประชาชนชอบมากที่สุด อันดับ 1 คือ ส.ส. ปวีณา หงสกุล

12. ปี 2543  ได้รับเครื่องหมายเกียรติยศ กระทรวงมหาดไทย พ.ศ. 2543, ได้รับประกาศเกียรติคุณให้มีสิทธิประดับเข็มเครื่องหมายพระปรมาภิไธยย่อ  ภปร. จากกองพลทหารปืนใหญ่ต่อสู้อากาศยาน พ.ศ. 2543  และได้รับการแต่งตั้งให้เป็นสมาชิกนักโดดร่มกองทัพบก พ.ศ. 2543

13. ปี 2542 ผลการสำรวจความเห็นสาธารณะจากธรรมศาสตร์โพล ในเดือนธันวาคม ได้รับเลือกเป็น “นักการเมืองเลือดใหม่ยอดนิยมอันดับ 1”, ได้รับรางวัล  “ยอดหญิง” ปี 2542 จากสมาคมส่งเสริมสถานสภาพสตรีในพระอุปถัมภ์พระเจ้าวรวงศ์เธอพระองค์เจ้าโสมสวลี พระวรราชาธินัดดามาตุ  และได้รับเกียรติเป็นนักบินกิตติมศักดิ์ของกองทัพอากาศ พ.ศ. 2542

14. ปี 2541 ผลการสำรวจความเห็นประชาชนทั่วประเทศจากกสวนดุสิตโพล วันที่ 30ธันวาคม 2541 เรื่อง “ที่สุดแห่งปี 2541”  ข้อ 9 นักการเมืองยอดนิยมอันดับ 1 ฝ่ายหญิงได้แก่ นางปวีณา  หงสกุล, ผลการสำรวจความเห็นประชาชนจากสวนดุสิตโพล ตุลาคม 2541 หัวข้อ “นักการเมืองที่ซื่อสัตย์ 5 อันดับแรก” ผู้ที่ติด 1 ใน 5 อันดับแรก คือ นางปวีณา  หงสกุล, ได้รับเกียรติจากสื่อมวลชนรัฐสภา เลือกให้เป็น “ดาวเด่นในสภาปี 2541” และได้รับการยกย่องเป็นสตรีดีเด่นประจำปี 2541 จากสภาสตรีแห่งชาติในพระบรมราชินูปถัมภ์ ในฐานะที่เป็นผู้ช่วยเหลือพิทักษ์สิทธิเด็กและสตรีตลอดมา

15. ปี 2536 ได้รับปริญญาบัตร คหกรรมศาสตร์บัณฑิตกิตติมศักดิ์สาขาพัฒนาการครอบครัวและเด็ก พ.ศ. 2536 ได้รับพระราชทานปริญญาบัตร ศึกษาศาสตร์มหาบัณฑิตกิตติมศักดิ์ สาขาวิชาศึกษาศาสตร์ มหาวิทยาลัยรามคำแหง พ.ศ. 2536, ได้รับรางวัลนักเหินเวหากิตติมศักดิ์ของกองทัพอากาศ พ.ศ. 2536 และได้รับโล่และเข็มเชิดชูเกียรติ เพื่อแสดงว่าเป็นผู้สนับสนุนกิจการของกองทัพอากาศมาด้วยดี

16. ปี 2532 ได้รับประกาศนียบัตรแสดงความสามารถในการบินกิตติมศักดิ์ของกรมตำรวจ  

 

8. ประวัติส่วนตัวและประวัติการทำงาน

ปัจจุบัน                           ประธานมูลนิธิปวีณาหงสกุลเพื่อเด็กและสตรี

พ.ศ. 2531-2549              อดีตสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร กรุงเทพมหานคร 6 สมัย

พ.ศ. 2548-2549              ที่ปรึกษารองนายกรัฐมนตรี

พ.ศ. 2546-2547              เลขาธิการพรรคชาติพัฒนา

พ.ศ. 2542-2543              รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี (กำกับดูแลการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย)

พ.ศ. 2542-2543              ประธานคณะกรรมการการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย

พ.ศ. 2541-2542              รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงแรงงานและสวัสดิการสังคม

พ.ศ. 2541                      รองประธานคณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาร่างพระราชบัญญัติงบประมาณรายจ่ายประจำปี พ.ศ. 2542 สภาผู้แทนราษฎร

พ.ศ. 2539-2541              ประธานคณะกรรมาธิการการวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีสภาผู้แทนราษฎร

พ.ศ. 2538-2540              ประธานคณะกรรมการเร่งรัดและประสานการปฏิบัติงานเยาวชน สตรี ภาครัฐและเอกชน สำนักนายกรัฐมนตรี

พ.ศ. 2538-2539              รองเลขาธิการนายกรัฐมนตรีฝ่ายการเมือง

พ.ศ. 2535-2536              ประธานชมรมรัฐสภาสตรีไทยคนแรก (ประธานชมรม ส.ส.หญิง-วุฒิสภาหญิง)

พ.ศ. 2529-2535              ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดใหญ่ โรงแรม โซฟิเทล หัวหิน

พ.ศ. 2518-2528              ผู้จัดการธนาคารกรุงศรีอยุธยา จำกัด (มหาชน) สาขาลาดพร้าว

 

ผลงานการยกร่าง ผลักดัน แก้ไขกฎหมายที่สำคัญสู่สภาผู้แทนราษฎร

- ผลักดันพระราชบัญญัติป้องกันและปราบปรามการค้าประเวณี

- แก้ไขเพิ่มเติมพระราชบัญญัติสถานบริการ

- ยกร่างพระราชบัญญัติคุ้มครองเด็ก พ.ศ.2546

- ผลักดันพระราชบัญญัติการค้าหญิงและเด็ก

 

 

มูลนิธิสภาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งประเทศไทย (มสวท.)

กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี

สถานที่ติดต่อ :

288/52 อาคารมูลนิธิ มสวท. ถนนพหลโยธิน แขวงอนุสาวรีย์ เขตบางเขน กรุงเทพมหานคร 10220

Tel. +66(0) 2552-5200 Fax. +66(0) 2551-4422 Email : thaifstt@gmail.com 

Copyright © 2008-2015 หากมีปัญหาในการรับชมกรุณาติดต่อ Webmaster ที่ admin@thaifstt.org