ทำเนียบเกียรติยศ (Hall of Fame)

บุคคลคุณภาพแห่งปี 2016 ด้านสังคม

คุณเนาวรัตน์ ยุกตะนันท์ (อายุ 58 ปี)

นักแสดงหญิงผู้อุทิศตนเป็นจิตอาสาเพื่อสังคม

 

1. หน้าที่ความรับผิดชอบในปัจจุบัน

- ดารา ศิลปิน นักแสดงมืออาชีพ (งานภาพยนตร์และงานละคร)

- พิธีกรรายการโทรทัศน์ และงานอีเว้นท์ต่างๆ

 

2. ประวัติการศึกษา

- ปริญญาตรี คณะรัฐศาสตร์  มหาวิทยาลัยกรุงเทพธนบุรี

- ปริญญาโท คณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยกรุงเทพธนบุรี

 

3. นโยบายและอุดมการณ์ในการทำงาน

          ทำหน้าที่ของเราให้ดีที่สุด อย่าหวังสิ่งตอบแทน

 

4. ความสำเร็จในชีวิตการทำงาน

          ได้รับรางวัลตุ๊กตาเงิน ตุ๊กตาทอง และรางวัลอันทรงเกียรติในงานที่ทำ

 

5. ทรรศนะต่อวงการวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี

          วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีมีการพัฒนาและก้าวหน้าอย่างรวดเร็วอยู่ตลอดเวลา หากใครไม่ติดตามข้อมูลข่าวสารจะกลายเป็นคนหลงยุค

 

6. กิจการอันเป็นคุณประโยชน์เพื่อสังคม สาธารณกุศล

          คุณเนาวรัตน์ ได้อุทิศตนและเวลาหลังเลิกงานหรือช่วงที่มีเวลาว่างมาทำงานจิตอาสาเพื่อสังคมที่โรงพยาบาลรามาธิบดี โดยไม่ได้หวังผลตอบแทนใดๆทั้งสิ้น

 

          1. งานจิตอาสา Blue Angel (หน่วยอำนวยความสะดวกผู้รับบริการ)

          คุณเนาวรัตน์เริ่มทำกิจกรรมเพื่อสังคม โดยการเป็นอาสาสมัครปฏิบัติหน้าที่ Blue Angle ที่โรงพยาบาลรามาธิบดี จังหวัดกรุงเทพมหานคร ประมาณปี 2549 โดยรับหน้าที่เป็นคนสร้างรอยยิ้มให้กับผู้ป่วยด้วยการชวนคุย พาผู้ป่วยเข้าห้องน้ำ  ช่วยวัดความดัน หรือคอยช่วยเหลือและอำนวยความสะดวกให้กับคนไข้ในทุกเรื่อง เช่น เข้าไปสอบถาม นำผู้ป่วยไปส่งตามห้องเจาะเลือด ห้องเอกซเรย์ ห้องตรวจคลื่นหัวใจ ช่วยเหลือผู้ป่วยที่เป็นคนคนชราที่ไม่ค่อยรู้เรื่องระบบบริการของทางโรงพยาบาล  จุดเริ่มต้นที่ทำให้คุณเนาวรัตน์มาทำกิจกรรมนี้ เนื่องจากเมื่อปี 4 ปีก่อนที่เธอจะมาเป็นอาสาสมัคร Blue Angel เธอเคยเป็นผู้ป่วยและเข้ารับการผ่าตัดโรคเกี่ยวกับทางเดินปัสสาวะที่นี่ เคยมานั่งรอคิวแบบนี้เหมือนคนอื่นๆ เช่นกัน ชีวิตคนเราเกิดมาแล้วต้องรู้จักคำว่าช่วยเหลือค่ะเธอเลยขอคุณหมอที่ดูแลเธออยู่ว่า อยากจะทำตรงนี้ พอขอปุ๊บ คุณหมอก็อาจจะคิดว่าเธอจะมาทำหยิบโหย่ง ไม่จริงใจอะไรมากมายนัก พอทำปุ๊บปั๊บแล้วก็จะไป แต่แล้วเธอก็ได้พิสูจน์ตัวเองโดยทำอะไรแล้วก็จะทุ่มเท ซึ่งคุณหมอก็จะเห็นว่าเธอทำจริง แม้ในช่วงที่เธอมีงานยุ่งมากก็จะจัดสรรเวลาให้สามารถมาทำงานนี้ได้ เธอบอกตัวเองเสมอว่า ทำงานตรงนี้แล้วมีความสุขเพราะเมื่อเรามีรอยยิ้มให้กับเขา เขาก็จะมีรอยยิ้มให้กับเรา อาสาสมัครบลูแองเจิลต่างยึดคติที่ว่า คนไข้ที่เข้ามาป่วยกายมาแล้วทุกคน อย่าได้สร้างความป่วยใจเพิ่มให้แก่เขาอีก แม้จะเดินเข้ามาด้วยสีหน้าทุกข์เพราะความป่วย แต่ขอให้เดินกลับไปด้วยรอยยิ้ม ผลที่ได้คือความสบายใจของทั้งผู้ให้บริการและผู้รับบริการ ดังวัตถุประสงค์ข้อหนึ่งของโครงการนี้ที่ว่า เป็นการสร้างขวัญกำลังใจให้ทั้งคนไข้และผู้ปฏิบัติเมื่อเราดูแลจิตใจผู้อื่น จิตใจของเราก็จะแข็งแรงไปพร้อมๆ กัน

 

          คุณเนาวรัตน์ เคยพาคนมาทำงานแบบนี้ด้วยกันหลายคน แต่เขาบอกว่าไม่ชอบ ที่ว่าไม่ชอบไม่ใช่เพราะไม่ชอบงาน แต่ไม่ชอบบรรยากาศโรงพยาบาล มันหดหู่  ดูไม่สดใส แต่ตัวเธอเองกลับชอบ เพราะเวลาทำงานไม่ได้คิดถึงเรื่องบรรยากาศเลย ทำเพราะสนุกสนาน เวลาที่ตั้งใจทำงาน ไม่คิดถึงเรื่องเงินเลยนะ เพราะงานการกุศลขนาดนี้ไม่มีเงินสักบาทเลย เราทำเพราะตั้งใจ เมื่อตั้งใจ มีใจเป็นใหญ่ มีใจเป็นประธาน เราก็ถอดใจทำไปเลย ทุ่มเทแบบสุดๆไปเลย ทำแบบเต็มที่ด้วย ซึ่งเราคิดว่าสิ่งดี ๆ มันก็ตอบแทนกลับมาได้อย่างรวดเร็วมาก เป็นที่มหัศจรรย์มากๆ เลย”  ในปี 2559 คุณเนาวรัตน์ได้เริ่มเข้าไปทำงานจิตอาสาที่โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ สภากาชาดไทย เพิ่มอีกแห่งหนึ่งด้วย

 

          2. งานจิตอาสาแต่งหน้าศพ  (Volunteer Mortuary Beautician)

          ที่มาของการเข้าร่วมกิจกรรมแต่งหน้าศพ หลังจากที่คุณเนาวรัตน์เคยผ่านการแต่งหน้าศพให้กับคุณแม่ที่รักและเทิดทูน รวมถึงผู้กำกับผู้มีพระคุณ มาถึง 2 ครั้ง ทำให้เธอตระหนักดีว่าการทำสิ่งดี ๆ เป็นครั้งสุดท้ายเพื่อใครสักคน คือสิ่งที่เธอควรทำ  เธอเคยอาสาแต่งหน้าศพให้กับเพื่อนๆ พี่ๆ น้องๆ ในวงการด้วย และในช่วงที่เธอทำงาน Blue Angle ที่โรงพยาบาลรามาธิบดี วันหนึ่งขณะที่เธอเดินผ่านห้องดับจิตของโรงพยาบาลรามาธิบดีที่เธอไปรับหน้าที่จิตอาสาอยู่ เธอขออนุญาตพยาบาลเปิดเข้าไปดูข้างใน และพบกับศพที่ถูกห่มด้วยผ้าขาวศพหนึ่งนอนอยู่ ทราบว่าเป็นศพผู้ชาย ภาพที่เห็นตรงหน้าทำให้เธอรู้สึกขนลุกซู่จนต้องปิดประตูแล้วเดินจากมา พร้อมกับความคิดที่ว่าจะช่วยเหลือเขาได้อย่างไรบ้าง  เมื่อความอยากช่วยเหลือถูกกระตุ้นอยู่ภายในใจ จึงได้ไปพูดคุยกับอาจารย์ที่ดูแลการตกแต่งศพ ทั้งเย็บแผล ฉีดฟอร์มาลีน รวมถึงแต่งหน้าศพ ด้วยความเป็นผู้หญิง คุณเนาวรัตน์ รู้สึกว่าบางครั้งอาจารย์ก็แต่งหน้าศพสวยบ้างไม่สวยบ้างตามแบบผู้ชาย เธอจึงอยากขอลองรับหน้าที่ช่วยเหลือศพเหล่านั้น ด้วยการลงมือแต่งหน้าศพเสียเอง ซึ่งอาจารย์ก็อนุญาต เธอจึงมีโอกาสได้ลองสัมผัสบทบาทใหม่ที่สุดท้าทายในชีวิต ทั้งที่ตัวคุณเนาวรัตน์เองเป็นคนที่กลัวความมืดและกลัวผีมากที่สุดคนหนึ่ง

          ในปี 2554 คุณเนาวรัตน์จึงเริ่มทำกิจกรรมแต่งหน้าศพเรื่อยมา จนได้ฉายา "นางฟ้า 100 ศพ ผู้ส่งวิญญาณขึ้นสวรรค์" ประสบการณ์แปลกๆในงานที่ทำคือ คนที่เสียไปแล้ว ปกติดวงจิตวิญญาณเขายังไม่ได้ไปในทันที ยังวนเวียนอยู่ใกล้ๆศพ แม้เขาจะยังไม่ตื่น แต่เขาก็พยายามจะขอบคุณดิฉัน พยายามทำอะไรให้หลายๆอย่างเพื่อช่วยให้ดิฉันทำหน้าที่แต่งหน้าศพได้ง่ายขึ้น ที่ผ่านมาไม่เคยเจอผีหลอก แม้พวกเขาจะไม่ลุกขึ้นมาโต้ตอบ แต่สามารถแสดงอาการให้เห็นในบางครั้งว่าขอบคุณนะ เช่น มีน้ำตาไหลเอ่อแบบรู้สึกดี หรือมีรอยยิ้มที่มุมปากให้เราเห็นได้ ปกติการแต่งหน้าศพจะทำได้ก็ต่อเมื่อหมอชันสูตรพลิกศพตามขั้นตอนเรียบร้อยแล้ว ค่อยนำเอามาวางไว้ที่เตียงเหล็ก ถึงจะเริ่มแต่งหน้าศพได้ คุณเนาวรัตน์แต่งหน้าศพได้อย่างรวดเร็ว ใช้เวลาประมาณ 5-10 นาที เวลาแต่งหน้าหวีผมไป เราก็อธิฐานอวยพรให้เขาได้ขึ้นสวรรค์ เธอเชื่อว่าศพรับรู้ เขายังมีรอยยิ้มหลงเหลืออยู่  เราจะขอบคุณเขานะที่ยังจำเราได้ บางคนยังไม่ตายกำลังเป็นมะเร็ง แต่เขารู้ไงว่าเขาต้องตายแน่ๆ ก็เลยมาจองว่าอยากให้คุณเนาวรัตน์ช่วยแต่งหน้า ให้ "สุดท้ายก็ตายจริงๆ เราได้แต่งให้เขาจริงๆ"  ทั้งนี้ เธอจะยกเว้นไม่แต่งหน้าศพให้กับศพที่ติดเชื้อ ซึ่งโดยปกติคุณหมอก็ห้ามไม่ให้ยุ่งเกี่ยว เดี๋ยวจะติดเชื้อได้  

          คุณเนาวรัตน์เคยชวนเพื่อดาราจิตอาสามาร่วมกิจกรรมแต่งศพด้วย แต่ไม่มีใครมา ซึ่งคนที่รู้ว่าเราทำงานตรงนี้ เขาก็จะฝากเครื่องสำอางมาให้แต่งศพ บางคนก็บริจาคเงินเพราะไม่รู้จะซื้ออะไรมาให้ เพราะคนตายบางคนแม้แต่โลงศพก็ไม่มีเงินจะซื้อ  เราไม่อยากเรี่ยไรเงิน เพราะไม่อยากให้คนรอบข้างเดือดร้อน แต่หากต้องการจะบริจาคจริงๆ ก็ขอเป็นของใช้ที่จำเป็น เช่น หมวกไหมพรมที่สามารถคลุมได้ทั้งศรีษะ กรรไกรตัดผม มีดโกนหนวด สเปรย์แต่งผม ครีมแป้งรองพื้น ลิปสิก หมอนเล็กๆหนุนคอ ฯลฯ 

          เมื่อปี 2557 คุณเนาวรัตน์ก็ตกเป็นข่าวดังไปทั่วโลก เมื่อนักข่าวของ BBC News ได้นำเสนอรายงาน เนาวรัตน์ ยุกตะนันท์ อุทิศเวลาว่างจากการถ่ายภาพยนต์และถ่ายละคร ไปอยู่ห้องดับจิตเพื่อแต่งหน้าศพ  (Volunteer Mortuary Beautician) ให้กับเพื่อนมนุษย์ด้วยกัน  ในรายงานที่มีชื่อว่า Thailand TV star Naowarat Yuktanan : A day in the life  เป็นการออนไลน์ทางเว็บไซต์ ซึ่งเป็นเรื่องราวการใช้ชีวิตของคุณเนาวรัตน์ใน 1 วัน โดย BBC News ไม่มีค่าจ้างให้เธอ แต่ต้องการถ่ายทอดเรื่องราวชีวิตของดาราดังที่ใช้ชีวิตไม่เหมือนใคร เพื่อยกย่องในการทำความดีแก่เพื่อนมนุษย์ในวาระสุดท้าย  ซึ่งถือเป็นเกียรติอย่างมาก เพราะเธอเป็นดาราไทยคนแรกที่ BBC news มาตามติดชีวิตของเธอตลอดทั้งวันตั้งแต่เช้าจนดึก และการแบ่งเวลาหลังเลิกงานไปทำงานจิตอาสาเพื่อสาธารณะ โดยเฉพาะกิจกรรมแต่งหน้าศพให้ดูสวยงามไม่น่ากลัว ก่อนที่จะนำศพไปประกอบพิธีรดน้ำศพ ซึ่งเป็นงานที่คนทั่วไปรู้สึกว่าเป็นงานที่น่ากลัว

          ในความคิดของดิฉัน ไม่น่ากลัวหรอกค่ะ เพราะแท้จริงแล้วคือกระจกที่มองให้เราเห็นว่าสุดท้ายชีวิตก็ได้เท่านี้ เอาอะไรไปไม่ได้เลย ดิฉันได้อธิบายให้เขาฟัง เขาก็เข้าใจ และหลังจากที่ BBC News ได้นำเรื่องราวชีวิตของดิฉันไปออนแอร์ ทำให้คนทั่วโลกได้รู้จักว่า Movie Star in Thailand เลือกที่จะใช้ชีวิตในทางที่ตัวเองมีความสุข  มันไม่ได้เป็นความภาคภูมิใจอย่างเดียว มันรู้สึกตื้นตันว่าเราตัดสินใจถูกแล้วที่เราทำงานชิ้นนี้มาก่อน เราไม่เคยคิดให้ใครมาสัมภาษณ์หรือให้ใครมารู้ชีวิตของเรา ดิฉันต้องขอบคุณที่เขาเห็นถึงคุณภาพและสังคมของคนไทยที่เราอยู่แบบไม่ทอดทิ้งกันจนกระทั่งหมดลมหายใจ หรือแม้แต่หมดลมหายใจแล้วก็ยังมีความทรงจำที่ดีๆ แม้กระทั่งไม่ใช่ญาติไม่ใช่พี่น้องเราก็ยังเกื้อกูลกันได้

          สาเหตุที่เลือกมาทำงานตรงนี้  1) คิดว่าคนตายคือสิ่งที่สูงสุด เพราะวันหนึ่งคนเราก็ต้องมาถึงจุดนี้ทุกคน การทำงานตรงนี้ ทำให้เรียนรู้เรื่องการตาย ซึ่งเป็นสิ่งที่ไม่น่าตกใจ  คนตายคือคนที่มีบุญ ไม่ต้องลำบาก ไม่ต้องดิ้นรนอีกแล้ว  ดังนั้น เวลามีชีวิตอยู่ อย่าไปโลภ โกรธ หลง กับอะไรเลย เพราะสุดท้ายตายไปก็เอาอะไรไปไม่แต่แม้สักบาทเดียว  2) เป็นเรื่องอัศจรรย์ คือ เป็นเพื่อนสนิทของเรา เป็นเพื่อนตาย ดิฉันอยากรู้จักคนที่ตายให้ลึกซึ้ง เพราะคนที่ตายรู้จักดิฉันทุกคน ทั้งที่บางคนไม่รู้จักดิฉัน แต่ดิฉันจะไปพูดคุยกับเขาและยืนแนะนำตัวข้างๆศพ แต่งหน้าสวยๆนะ หล่อๆนะ จะพาไปขึ้นสวรรค์  3) ชีวิตที่ผ่านมาดิฉันใช้ไปแล้วครึ่งหนึ่ง ส่วนที่เหลืออยากจะใช้ชีวิตอุทิศเพื่อสังคม ประสบการณ์ครั้งแรกที่เริ่มทำงานนี้  คือ มีความรู้สึกกล้าๆกลัวๆ ครั้งที่ 2 รู้สึกว่าจะทำจริงๆรึเปล่า ครั้งที่ 3 มั่นใจเลยว่าเราเลือกทางที่ถูกแล้ว นอกจากนี้ คุณเนาวรัตน์ยังมีงานอดิเรกอีกอย่าง คือ ขายเสื้อผ้าของตัวเองที่ใช้แล้วแต่อยู่ในสภาพดีมาก เพื่อนำเงินที่ได้ไปเป็นทุนช่วยเหลือเพื่อนศิลปิน ดาราในวงการ หรือนอกวงการที่ทราบว่า ประสบความทุกข์ยากลำบากจริงๆ ความหวังคือ อยากช่วยเหลือให้คนอื่นที่ลำบากกว่าเราให้มีชีวิตที่ดีขึ้น แม้จะช่วยได้ไม่กี่คนก็ตาม เพราะถือว่าชีวิตที่ผ่านมาของเรามีคนคอยช่วยเหลือมาตลอด ก็เลยอยากมอบสิ่งดีๆเหล่านี้ช่วยเหลือคนอื่นตอบแทนบ้าง

 

7. รางวัลเกียรติยศหรือเครื่องราชอิสริยาภรณ์

7.1 เครื่องราชอิสริยาภรณ์ที่ได้รับ

      ปี 2524           เบญจมาภรณ์มงกุฎไทย (บ.ม.)

 

7.2 รางวัลเกียรติคุณที่ได้รับ

          ปี 2518 - รองมิสออด๊าซและขวัญใจช่างภาพและสื่อมวลชน จากการประกวดมิสออด๊าซ ครั้งที่ 4

          ปี 2519 - ตุ๊กตาเงิน จากภาพยนตร์เรื่อง แผ่นดินของเรา

          ปี 2523 - ดารายอดนิยมอันดับ 1 จากการจัดโดยสบู่ลักส์

          ปี 2524 - ตุ๊กตาทอง ดารานำแสดงหญิง จากภาพยนตร์เรื่อง ถ้าเธอยังมีรัก

          ปี 2559 - รางวัลครูของแผ่นดิน ของสภาศิลปวัฒนธรรมจิตตานุภาพ

 

8. ประวัติส่วนตัวและประวัติการทำงาน

ประวัติการทำงาน

  เริ่มเข้าสู่วงการแสดงเมื่อปี 2519 - ปัจจุบัน มีผลงานแสดงภาพยนตร์ไม่น้อยกว่า 400 เรื่อง ผลงานแสดงละคร มากกว่า 118 เรื่อง นอกจากนี้ ยังรับงานนางแบบโฆษณา พรีเซ็นเตอร์ และงานพิธีกรรายการโทรทัศน์ งานอีเว้นท์ และอื่นๆอีกมากมาย

          เคล็ดลับในการทำงาน - ตรงต่อเวลา ไม่ทำตัวมีปัญหากับทีมงานหรือผู้ร่วมงาน ทำตัวสบายๆไม่เครียด ไม่ยึดติดว่าเป็นคนเด่นคนดัง ค่อนข้างติดดิน ไม่ทำประวัติให้เสีย ทำตัวเป็นตัวอย่างให้ดีกับลูกหลาน

          ข้อคิดในการดำเนินชีวิต

          1. คนเราต้องมีงานทำ ต้องมีสังคม ต้องมีคุณภาพชีวิตที่ดี  และอย่าคิดพึ่งคนอื่นในยามที่เราทุกข์ เพราะว่า สิ่งที่ทุกข์นั้นจะทำให้เราเจ็บไปจนชั่วชีวิต เฉพาะฉะนั้น เกิด แก่ เจ็บ ตาย เราต้องยอมรับด้วยตัวเราเอง แม้คนเราตายก็ต้องตายคนเดียวไม่สามารถเอาคนรักไปกับเราได้  ยามเราเจ็บผ่าตัดอาการปางตายก็ไม่สามารถเอาคนรักไปยืนเฝ้าและจับมือเราได้ เพราะคนที่จะช่วยตรงนั้นได้ก็ต้องเป็นหมอ ไม่ใช่คนรักที่จะแบ่งเบาความเจ็บปวดของเราได้ เรียกว่า ตนย่อมเป็นที่พึ่งแห่งตน

 

          2. การหาทางออกแห่งความทุกข์ด้วยการไปวัด ไม่ใช่ทางออกที่ดีที่สุดสำหรับทุกคน ลองเปลี่ยนเป็นไปช่วยเหลือผู้อื่นเพื่อแลกเปลี่ยนมุมมองความทุกข์ดู แล้วจะทำให้คนเราลืมความทุกข์ของตัวเองไปได้ เมื่อต้องไปสัมผัสรับรู้กับความทุกข์ของผู้อื่น ที่บางครั้งก็เป็นทุกข์ที่หนักหนาสาหัสมากกว่าเราเสียอีก ส่วนการเข้าวัดควรจะเป็นการนำความสุขเข้าไปมากกว่า 

มูลนิธิสภาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งประเทศไทย (มสวท.)

กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี

สถานที่ติดต่อ :

288/52 อาคารมูลนิธิ มสวท. ถนนพหลโยธิน แขวงอนุสาวรีย์ เขตบางเขน กรุงเทพมหานคร 10220

Tel. +66(0) 2552-5200 Fax. +66(0) 2551-4422 Email : thaifstt@gmail.com 

Copyright © 2008-2015 หากมีปัญหาในการรับชมกรุณาติดต่อ Webmaster ที่ admin@thaifstt.org