1) บุคคลคุณภาพแห่งปี 2020 ด้านวิทยาศาสตร์

 

    

 ศาสตราจารย์ นายแพทย์ ยง ภู่วรวรรณ (อายุ 70 ปี)

ผู้เชี่ยวชาญเฉพาะทางด้านไวรัสวิทยา

 1. หน้าที่ความรับผิดชอบในปัจจุบัน

      1. ศาสตราจารย์ระดับ 11 ภาควิชากุมารเวชศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

      2. หัวหน้าศูนย์เชี่ยวชาญเฉพาะทางด้านไวรัสวิทยาคลินิก ภาควิชากุมารเวชศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

      3. หัวหน้าโครงการวิจัยโรคอุบัติใหม่และอุบัติซ้ำของศูนย์เชี่ยวชาญเฉพาะทางด้านไวรัสวิทยาคลินิก คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

      4. คณะกรรมการ สำนักงานคณะกรรมการวิจัยแห่งชาติ สาขาวิทยาศาสตร์การแพทย์

      5. ราชบัณฑิต ประเภทวิชาแพทยศาสตร์และทันตแพทยศาสตร์ สาขาวิชากุมารเวชศาสตร์ สำนักวิทยาศาสตร์

 2. ประวัติการศึกษา

  • วิทยาศาสตรบัณฑิต (วิทยาศาสตร์การแพทย์) จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
  • แพทยศาสตรบัณฑิต จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย (2517)
  • วุฒิบัตรแสดงความรู้หรือความชำนาญ การประกอบวิชาชีพเวชกรรม สาขากุมารเวชศาสตร์ แพทยสภาแห่งประเทศไทย
  • Research fellow, King's College Hospital Medical School, London, UK (2527-2528)

 3. ประวัติการทำงาน

 ·         หลังจากจบการศึกษาในคณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ก็ได้เข้ารับการฝึกอบรมแพทย์เฉพาะทางสาขากุมารเวชศาสตร์ ในปี พ.ศ. 2518 - 2521

 ·         บรรจุเข้ารับราชการเป็นอาจารย์ภาควิชากุมารเวชศาสตร์ และได้ไปฝึกอบรมเป็น research fellow ที่ King’s College Hospital Medical School กรุงลอนดอน สหราชอาณาจักร ในปี พ.ศ. 2527 - 2528

 ·         รับราชการเป็นอาจารย์ภาควิชากุมารเวชศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2522 ปัจจุบันดำรงตำแหน่งศาสตราจารย์ระดับ 11 ในสาขาวิชากุมารเวชศาสตร์

 4. นโยบายและอุดมการณ์ในการทำงาน

 ชีวิตการทำงานจะประสบความสำเร็จได้ โดยส่วนตัวจะคุยกับผู้ร่วมงาน ครอบครัว โดยยึดคำขวัญที่ว่า “ความสุข” คือการทำงานจะต้องมีความสุข ทุกคนเพื่อนร่วมงานจะต้องมีความสุข ครอบครัวจะต้องมีความสุข แล้วงานนั้นจะประสบความสำเร็จ โดยปกติจะชอบทำสวนปลูกต้นไม้ เล่นกับหลาน สอนให้รักในธรรมชาติ  

 ในการทำงานย่อมเจออุปสรรคเป็นเรื่องปกติ จากการสังเกตดูมดเดินเป็นทางในสวน ถึงแม้ว่าเราจะนำก้อนหินขวางทางเดินมดให้เป็นอุปสรรค มดก็จะพยายามปีนข้ามหรือเดินอ้อมไปสู่จุดมุ่งหมาย ด้วยความพยายาม ดังนั้นเมื่อมีอุปสรรคจึงมีความเชื่อมั่นว่า ถ้ามีความพยายามเหมือนมดก็จะสามารถข้ามอุปสรรคไปสู่จุดมุ่งหมายได้

5. ความสำเร็จในชีวิตการทำงาน

·         ตลอดชีวิตการทำงานมีความมุ่งมั่น ทั้งในด้านการเรียนการสอน และงานวิจัย ด้วยความขยันอดทน ซื่อสัตย์และกตัญญูู โดยตลอดช่วงระยะเวลา 40 ปี มีผลงานทางวิชาการจำนวนมากมาย ทั้งระดับประเทศและนานาชาติ โดยรวมแล้วในระดับนานาชาติที่อยู่บนฐานข้อมูล PubMed มากกว่า 600 เรื่อง และมีการถูกนำไปอ้างอิง มากกว่า 20,000 ครั้ง โดยมี H-index = 65 บนฐานข้อมูล Google scholar จากผลงานดังกล่าวทำให้ได้รับรางวัลและเกียรติยศมากมายทั้งในระดับประเทศและระดับโลก

 ·         เป็นแพทย์ที่ได้รับการยกย่องว่าเป็นหนึ่งในแพทย์ด้านไวรัสวิทยาในระดับต้นๆ ของประเทศไทย นอกจากนี้ยังมีผลงานวิจัยทางด้านโรคตับ ไวรัสวิทยา ไข้หวัดใหญ่ ได้รับรางวัลมาแล้วมากมายทั้งในระดับประเทศและระดับโลก ก่อนจะมาเป็นที่รู้จักในวงกว้างช่วงสถานการณ์โควิด-19 ระบาด จนได้รับฉายาว่าเป็น มือปราบโควิด-19

 6. ทรรศนะต่อวงการวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี

 ในปัจจุบันวงการวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีของประเทศไทย ยังมีขอบเขตที่จำกัดโดยเฉพาะนักเรียนและนักศึกษาจะมุ่งไปสู่วิชาชีพ เช่น แพทย์และวิศวกร มากกว่าด้านวิชาการ จึงเปรียบเสมือนเป็นการบริโภคความรู้มากกว่าที่จะเป็นการสร้างองค์ความรู้ ทั้งนี้เพราะทางด้านวิทยาศาสตร์ ยังมีความยากลำบากในการดำรงชีวิตในสายวิชาชีพ นักวิทยาศาสตร์ส่วนใหญ่จึงออกมาในรูปของสมัครเล่นมากกว่ามืออาชีพและขาดความต่อเนื่องในระยะยาว การจะประสบความสำเร็จทางด้านวิทยาศาสตร์ในปัจจุบันมีความจำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องทำงานเป็นทีมและมีความรู้ข้ามศาสตร์ หรือร่วมมือกันระหว่างศาสตร์ต่างๆเข้าด้วยกัน เพื่อให้เกิดผลงานที่เป็นประโยชน์ในวงกว้าง การทำงานของนักวิทยาศาสตร์ในประเทศไทยยังเป็นการแยกส่วน จึงไม่สามารถที่จะต่อยอด หรือ ในเชิงนโยบายการลงทุนจะลงทุนน้อยแต่หวังผลที่จับต้องได้ โดยมักจะกล่าวว่างานวิจัยขึ้นหิ้ง ทั้งๆที่ในประเทศไทยขาดงานวิจัยพื้นฐานที่จะต่อยอดขึ้นไปใช้เป็นประโยชน์ ในความเห็นส่วนตัวไม่เคยคิดว่าทำงานวิจัยแล้วจะขึ้นหิ้ง เพราะมีความเชื่อมั่นว่าถ้ามีพื้นฐานดีมีของบนหิ้งมากต่อไปก็จะเป็นห้างได้เอง การหวังที่จะเป็นห้างโดยไม่มีของบนหิ้งก็เป็นไปไม่ได้ที่จะมีผู้มาจับจ่าย ดังนั้นการสนับสนุนการวิจัยจะต้องสนับสนุนตั้งแต่ฐานราก ประชาคมวิจัย ให้มีจำนวนมากพอเพื่อจะนำไปต่อยอดให้เกิดประโยชน์ได้

 ถึงแม้ว่าโดยสถานะเป็นแพทย์ ที่ได้ทำการดูแลรักษาผู้ป่วยโดยเฉพาะผู้ป่วยเด็ก แต่ในความรักงานทางด้านวิทยาศาสตร์  จึงทำให้รู้ว่าถ้าเรารู้วิทยาศาสตร์พื้นฐาน และสร้างองค์ความรู้ใหม่มาประกอบ จะทำให้การดูแลรักษาผู้ป่วยได้ดีขึ้น มีเหตุผลจากข้อมูลการศึกษาในประเทศไทย ไม่ใช่ความรู้ทางตะวันตกจะสามารถนำมาใช้ในประเทศของเราได้หมด

 7. กิจการอันเป็นคุณประโยชน์เพื่อสังคม สาธารณกุศล

 ·         งานที่ได้ทำมาตลอดชีวิต สามารถนำไปใช้ประโยชน์ต่อวงการสาธารณสุขของประเทศไทย เช่นในการปรับเปลี่ยนตารางการให้วัคซีนป้องกันโรค โดยเฉพาะไวรัสตับอักเสบ บี การศึกษาระบาดวิทยาด้านไวรัสตับอักเสบ ในประเทศไทย โรคอุบัติใหม่และโรคอุบัติซ้ำ ที่เกิดขึ้นในประเทศไทยมาโดยตลอด รวมทั้งมีบทบาทสำคัญในการศึกษาวิจัย เป็นที่ปรึกษาของกระทรวงสาธารณสุข และรัฐบาล ในโรคที่เป็นปัญหาเช่น  Covid-19 ในปัจจุบัน รวมทั้งการเผยแพร่องค์ความรู้สู่ประชาชน โดยเฉพาะโรคไวรัสที่เป็นปัญหาในประเทศไทยมาโดยตลอด

·         งานวิจัยที่ผ่านมาทางด้านสาธารณสุข ในบางครั้งไม่สามารถที่จะวัดเป็นรูปตัวเงิน ที่จับต้องได้ เป็นการทำให้ประชาชนอยู่สุขสบาย ปลอดโรคภัย ดังเช่นการศึกษาภูมิคุ้มกันป้องกันโรคคอตีบ ในช่วงที่มีการระบาดของโรคคอตีบทำให้ทราบว่าการให้วัคซีน เพื่อลดการระบาดของโรคคอตีบมีความจำเป็น จะต้องให้ในกลุ่มผู้ใหญ่ อายุ 20 ถึง 50 ปี เพื่อสร้างภูมิคุ้มกันให้สูงขึ้น เพราะช่วงอายุดังกล่าว เป็นช่วงที่มีภูมิต้านทานต่อคอ ตีบ ที่เกิดจากการติดเชื้อในธรรมชาติ และการให้วัคซีนคอตีบ พบได้ในระดับต่ำกว่าประชากรกลุ่มอื่น ภายหลังจากนโยบายของกระทรวงสาธารณสุขที่มีการรณรงค์การให้วัคซีนในช่วงดังกล่าว ทำให้สามารถป้องกันการระบาดของโรคคอตีบ ในประเทศไทยได้ต่อมา งานวิจัยทางโรคไวรัสตับอักเสบ ขณะนี้ทางกลุ่มวิจัยมีความมุ่งมั่นที่จะดำเนินการวิจัยเพื่อสนองนโยบายขององค์การอนามัยโลก ในการที่จะขจัดไวรัสตับอักเสบ ให้เหลือน้อยที่สุดภายในปี พ.ศ. 2573  โดยเริ่มโครงการวิจัยที่จังหวัดเพชรบูรณ์ และในปีนี้จะมีการรณรงค์ตรวจกรองไวรัสตับอักเสบ เพื่อเข้าสู่กระบวนการรักษาในจังหวัดเพชรบูรณ์ เพื่อเป็นจังหวัดนำร่อง งานการศึกษาวิจัยดังกล่าวจะเป็นแนวทางเพื่อขยายไปใช้ในทุกจังหวัดของประเทศไทย โดยมีเป้าหมายในการกวาดล้างไวรัสตับอักเสบให้เหลือน้อยที่สุดในอีก 10 ปีข้างหน้า

·         การให้ความรู้เกี่ยวกับโรคทางด้านไวรัส เป็นกิจกรรมที่ได้ทำอย่างเสมอมาทั้งในยามที่เกิดการระบาดของโรคหรือในภาวะปกติที่ มีโรคทางไวรัสตามฤดูกาล จะมีการให้ข้อมูลต่อสื่อมวลชนต่างๆที่เป็นองค์ความรู้ที่ทันสมัยและถูกต้องอย่างต่อเนื่องตลอดมา 

8. ความภาคภูมิใจและรางวัลเกียรติยศที่ได้รับ

 8.1 เครื่องราชอิสริยาภรณ์ที่ได้รับ

 ·      เครื่องราชอิสริยาภรณ์อันเป็นที่เชิดชูยิ่งช้างเผือก ชั้นมหาปรมาภรณ์ช้างเผือก (ม.ป.ช.)

 ·      เครื่องราชอิสริยาภรณ์อันมีเกียรติยศยิ่งมงกุฎไทย ชั้นมหาวชิรมงกุฎ (ม.ว.ม.)

 ·      เครื่องราชอิสริยาภรณ์อันเป็นที่สรรเสริญยิ่งดิเรกคุณาภรณ์ ชั้นจตุตถดิเรกคุณาภรณ์ (จ.ภ.)

 ·      เหรียญดุษฎีมาลา เข็มศิลปวิทยา (ร.ด.ม.(ศ))

 ·      เหรียญจักรพรรดิมาลา (ร.จ.พ.)

  8.2 รางวัลเกียรติคุณที่ได้รับ

 พ.ศ. 2532 รางวัลผลงานวิจัยดีเด่น เรื่อง ไวรัสตับอักเสบและการป้องกันจากกองทุนรัชดาภิเษกสมโภช จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

 พ.ศ. 2534  รางวัลผลงานวิจัยดีเด่น เรื่อง การดูแลทารกที่คลอดจากมารดาที่เป็นพาหะไวรัสตับอักเสบ บี ผลการศึกษาระยะยาว 5 ปี กองทุนรัชดาภิเษกสมโภช จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

 พ.ศ. 2536  รางวัลผลงานวิจัยดีเยี่ยม เรื่อง ปัญหาและการป้องกันไวรัสตับอักเสบในประเทศไทย จากสภาวิจัยแห่งชาติ

 พ.ศ. 2540  รางวัลนักวิทยาศาสตร์ดีเด่น จากมูลนิธิส่งเสริมวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ในพระบรมราชูปถัมภ์

 พ.ศ. 2540  รางวัลนักวิจัยดีเด่นแห่งชาติ สำนักงานคณะกรรมการวิจัยแห่งชาติ

 พ.ศ. 2540  เมธีวิจัยอาวุโส สกว. สำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย (-ปัจจุบัน)

 พ.ศ. 2546  รางวัลมหาวิทยาลัยมหิดล-บี บราวน์ เพื่อการแพทย์และสาธารณสุขไทย

 พ.ศ. 2546  รางวัลผลงานวิจัยที่ได้รับการอ้างอิง (Citation) โดยรวมสูงสุด ระหว่างปี ค.ศ. 1992 ถึงปัจจุบัน สำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย

 พ.ศ. 2547  รางวัลผลงานวิจัยเด่น สำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย

 พ.ศ. 2547  รางวัลอาจารย์ดีเด่นแห่งชาติ สาขาวิทยาศาสตร์สุขภาพ สภาอาจารย์มหาวิทยาลัยแห่งประเทศไทย (ปอมท.)

 พ.ศ. 2549  รางวัลผลงานวิจัยดีเยี่ยม เรื่อง ไข้หวัดนกในประเทศ จากสำนักงานคณะกรรมการวิจัยแห่งชาติ

 พ.ศ. 2550  รางวัลปาฐกถาประสงค์ ตู้จินดา จากภาควิชากุมารเวชศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดล

 พ.ศ. 2550  รางวัลแพทย์จุฬาฯ ดีเด่นสาขานักวิจัยด้านวิทยาศาสตร์สุขภาพประจำปี พ.ศ. 2550 ครบรอบ 60 ปี แพทย์จุฬาฯ

 พ.ศ. 2551 รางวัลศิษย์เก่าดีเด่น จากสมาคมศิษย์เก่า คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

 พ.ศ. 2551  รับพระราชทานเหรียญดุษฎีมาลา เข็มศิลปวิทยาในสาขาวิทยาศาสตร์การแพทย์จากพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว

 พ.ศ. 2555  ได้รับรางวัลผลงานวิจัยดีเยี่ยมจาก สำนักงานคณะกรรมการวิจัยแห่งชาติ

 พ.ศ. 2558  เป็นราชบัณฑิต ประเภทวิชาแพทยศาสตร์และทันตแพทยศาสตร์ สาขาวิชากุมารเวชศาสตร์ สำนักวิทยาศาสตร์

 พ.ศ. 2558  รางวัลศูนย์เชี่ยวชาญเฉพาะทางด้านไวรัสวิทยาคลินิก ประเภทรางวัลเกียรติยศ

 พ.ศ. 2562  รางวัลแพทย์ต้นแบบจากแพทยสภา

 พ.ศ. 2562  รางวัลผลงานวิจัยระดับดี ประจำปีงบประมาณ

 พ.ศ. 2562  จากสำนักงานคณะกรรมการวิจัยแห่งชาติรางวัลทุนวิจัยแกนนำ จากสำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช)

 พ.ศ. 2562  รางวัลในฐานะอุทิศตนทำงานและเผยแพร่ความรู้ทางพันธุ์ศาสตร์อย่างต่อเนื่องและทำคุณประโยชน์ต่อเนื่อง จากสมาคมพันธุศาสตร์แห่งประเทศไทย

          พ.ศ. 2562  รับพระราชทานรางวัล จากสมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ในฐานะผู้ทำประโยชน์ทางด้านวัคซีน (สถาบันวัคซีนแห่งชาติ)

 

มูลนิธิสภาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งประเทศไทย (มสวท.)

กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี

สถานที่ติดต่อ :

288/52 อาคารมูลนิธิ มสวท. ถนนพหลโยธิน แขวงอนุสาวรีย์ เขตบางเขน กรุงเทพมหานคร 10220

Tel. +66(0) 2552-5200 Fax. +66(0) 2551-4422 Email : thaifstt@gmail.com 

Copyright © 2008-2015 หากมีปัญหาในการรับชมกรุณาติดต่อ Webmaster ที่ admin@thaifstt.org