2) บุคคลคุณภาพแห่งปี 2020 ด้านเทคโนโลยี

 

 

 คุณศุภชัย เจียรวนนท์ (อายุ 53 ปี)

ประธานสภาดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมแห่งประเทศไทย

  1. หน้าที่ความรับผิดชอบในปัจจุบัน

 1. ประธานสภาดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมแห่งประเทศไทย

 2. ประธานคณะผู้บริหาร เครือเจริญโภคภัณฑ์

 3. ประธานกรรมการ บมจ. ทรู คอร์ปอเรชั่น

 4. ประธานคณะกรรมการ เครือข่ายโกลบอลคอมแพ็กประเทศไทย

 2. ประวัติการศึกษา

 ธันวาคม 2561    ดุษฎีบัณฑิตกิตติมศักดิ์ สาขาวิชาบริหารธุรกิจ มหาวิทยาลัยขอนแก่น

 สิงหาคม 2561    ดุษฎีบัณฑิตกิตติมศักดิ์ สาขาวิชาการตลาด มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลอีสาน

 มีนาคม 2559      ดุษฎีบัณฑิตกิตติมศักดิ์ สาขาวิชาสื่อสารมวลชน มหาวิทยาลัยรามคำแหง

 พ.ศ. 2529-2532  ปริญญาตรี สาขาบริหารธุรกิจ (การเงิน) มหาวิทยาลัยบอสตัน ประเทศสหรัฐอเมริกา

 พ.ศ. 2523-2529  มัธยมศึกษา โรงเรียนอัสสัมชัญ

 3. ประวัติส่วนตัวและประวัติการทำงาน

           คุณศุภชัย เป็นบุตรคนที่ 4 ในจำนวนบุตรธิดา 5 คน ของคุณธนินท์ เจียรวนนท์ ประธานอาวุโสเครือเจริญโภคภัณฑ์ และคุณหญิงเทวี เจียรวนนท์ สมรสแล้วกับคุณบุษดี เจียรวนนท์ มีบุตร 3 คน ได้แก่ นายกรวัฒน์ เจียรวนนท์ นางสาวกมลนันท์ เจียรวนนท์และ นายแซนเดอร์ เจียรวนนท์

 ประวัติการทำงาน

 คุณศุภชัย เจียรวนนท์ ปัจจุบันดำรงตำแหน่ง ประธานคณะผู้บริหาร เครือเจริญโภคภัณฑ์ ซึ่งเป็นกลุ่มธุรกิจชั้นนำทั้งในประเทศไทยและทวีปเอเชีย โดยมีบริษัทในเครือทั้งสิ้นกว่า 100 บริษัทในกว่า 18 ประเทศทั่วโลก มีพนักงานจำนวนทั้งสิ้นกว่า 3 แสนคน  เครือเจริญโภคภัณฑ์ก่อตั้งขึ้นในปี พ.ศ. 2464 ดำเนินธุรกิจหลายประเภท อาทิ การผลิตอาหารและสินค้าเกษตร ธุรกิจค้าปลีก และธุรกิจสื่อสารโทรคมนาคม ภายหลังจากที่ได้รับการแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งประธานคณะผู้บริหารเครือเจริญโภคภัณฑ์ เมื่อต้นปี พ.ศ. 2562 คณะกรรมการ บมจ.ทรู คอร์ปอเรชั่น ได้มีมติเห็นชอบแต่งตั้งและปรับเปลี่ยนโครงสร้างขององค์กร พร้อมปรับตำแหน่งนายศุภชัยขึ้นเป็นประธานกรรมการ  บมจ. ทรู คอร์ปอเรชั่น   

 คุณศุภชัย เข้าร่วมงานกับเทเลคอมเอเชีย (ชื่อเดิมของ บมจ.ทรู คอร์ปอเรชั่น) ในปี พ.ศ. 2535  มีบทบาทสำคัญในช่วงวิกฤตการณ์ทางการเงินในภูมิภาคเอเชียเมื่อปี พ.ศ. 2540 โดยได้ดำเนินการปรับโครงสร้างหนี้ของบริษัท จนทำให้สามารถนำพาบริษัท เทเลคอม เอเชีย จำกัด ผ่านพ้นวิกฤติเศรษฐกิจ กลับสู่สภาวะที่สามารถแข่งขันในตลาดได้ รวมทั้งได้รับความไว้วางใจให้ดำรงตำแหน่งกรรมการผู้จัดการใหญ่และประธานคณะผู้บริหารบริษัท ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2542 - 2560

 ในปี พ.ศ. 2547 คุณศุภชัยมีแนวนโยบายเสริมความแข็งแกร่งทางการเงินและวางรากฐานสู่การเป็นผู้นำด้านการสื่อสารโทรคมนาคมครบวงจรที่ตอบสนองทุกรูปแบบไลฟ์สไตล์ของคนไทย โดยได้เปลี่ยนชื่อจาก เทเลคอมเอเชีย เป็น ทรู คอร์ปอเรชั่น และได้ริเริ่มการปรับโครงสร้างทางการเงินของบริษัทในปี พ.ศ. 2548 จนปัจจุบัน กลุ่มทรูก้าวเป็นผู้นำของภูมิภาคเอเชียและเป็นผู้ให้บริการเพียงรายเดียวที่ครอบคลุมครบทั้งโทรศัพท์เคลื่อนที่ โทรศัพท์บ้าน อินเทอร์เน็ตบรอดแบนด์ และโทรทัศน์แบบบอกรับสมาชิก ยิ่งไปกว่านั้น คุณศุภชัยยังได้มีบทบาทสำคัญที่ได้ผลักดันให้กลุ่มทรูประสบความสำเร็จในการจัดตั้งกองทุนโครงสร้างพื้นฐานด้านโทรคมนาคมกองทุนแรกของประเทศไทยภายใต้ชื่อ กองทุนรวมโครงสร้างพื้นฐานโทรคมนาคม ดิจิทัล หรือ Digital Telecommunications Infrastructure (DIF)  อีกทั้งคุณศุภชัยได้ริเริ่มก่อตั้ง ทรู ดิจิทัล กรุ๊ป เพื่อให้บริการด้านดิจิทัลแบบครบวงจรในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ มีการพัฒนานวัตกรรมบริการอย่างต่อเนื่อง   แอปพลิเคชันทรูไอดี ที่รวมคอนเทนต์ดิจิทัลคุณภาพหลากหลายประเภท ทั้งภาพยนตร์ รายการโทรทัศน์ ข่าว ดนตรี กีฬา ท่องเที่ยวและไลฟ์สไตล์อื่นๆ ซึ่งเป็นการรวมทั้งคอนเทนต์จากต่างประเทศ และคอนเทนต์จากผู้ผลิตในประเทศไทย ทำให้ผู้ผลิตคอนเทนต์ในไทยได้มีช่องทางการนำเสนอ  นอกจากนี้ทรูไอดี ยังรวมบริการหลักด้านดิจิทัลอื่นๆ อาทิ ทรูพอยท์ – ระบบการเก็บสะสมแต้มหรือพอยท์และการใช้สิทธิพิเศษ และทรูมันนี่ วอลเล็ท – บริการชำระเงินอิเล็กทรอนิกส์ ไว้ในแพลตฟอร์มเดียว ด้วยแนวคิดของ True ID คือ ต้องการให้ประชาชนทุกคนสามารถเข้าถึงคอนเทนต์ที่มีประโยชน์ เข้าถึงได้อย่างถูกกฎหมาย

 

4. นโยบายและอุดมการณ์ในการทำงาน

 คุณศุภชัยบริหารงานและขับเคลื่อนยุทธศาสตร์ทางธุรกิจของเครือเจริญโภคภัณฑ์ เพื่อก้าวไปสู่การเป็นองค์กรดิจิทัล พร้อมก้าวเป็นฮับทางเทคโนโลยีในระดับภูมิภาค โดยมุ่งเน้นพัฒนาใน 4 ด้านหลักให้สอดคล้องกับการเปลี่ยนแปลงของโลกยุคดิจิทัล ได้แก่

 1. การส่งเสริมการวิจัยและการพัฒนานวัตกรรมทางเทคโนโลยีชีวภาพ ด้านอาหารและสุขภาพ, หุ่นยนต์และปัญญาประดิษฐ์, ระบบอัตโนมัติ และระบบโลจิสติกส์

 2. การปรับสู่การเป็นองค์กรดิจิทัล เพื่อให้สามารถวิเคราะห์ข้อมูลได้อย่างมีประสิทธิภาพในกระบวนการผลิต, ระบบการบริหารจัดการ, การตลาด และการบริการลูกค้า

 3. การพัฒนาพนักงานที่มีความสามารถ เพิ่มทักษะทางด้านดิจิทัลและการสร้างระบบนิเวศต่าง ๆ ภายในองค์กร เพื่อสร้างบุคลากรที่เป็นทั้งคนเก่งและคนดี   ตลอดจนการสร้างผู้นำรุ่นใหม่  

 4. การปลูกฝังค่านิยมหลัก 6 ประการ (หลักการสามประโยชน์, ความรวดเร็วและมีคุณภาพ, ทำเรื่องยากให้เป็นเรื่องง่าย, การยอมรับความเปลี่ยนแปลง, การสร้างสรรค์สิ่งใหม่ๆ, ความซื่อสัตย์และมีคุณธรรม) เพื่อส่งเสริมให้พนักงานมีจิตสำนึกในเรื่องของการพัฒนาอย่างยั่งยืน ให้ทุกคนเติบโตไปพร้อมกับประเทศ สังคม และองค์กรในโลกยุคดิจิทัล

 5. ความสำเร็จในชีวิตการทำงาน

 คุณศุภชัย เจียรวนนท์ ได้รับพระราชทานปริญญาบริหารธุรกิจดุษฎีบัณฑิตกิตติมศักดิ์ สาขาวิชาบริหารธุรกิจ มหาวิทยาลัยขอนแก่น เมื่อปี พ.ศ. 2561 ในฐานะผู้มีบทบาทสำคัญในวงการธุรกิจ สังคม และการศึกษา และในปีเดียวกันนั้น ได้รับพระราชทานปริญญาปรัชญาดุษฎีบัณฑิตกิตติมศักดิ์ สาขาวิชาการตลาด มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลอีสาน ในฐานะนักธุรกิจผู้อุทิศตนเพื่อสังคม และนักวิชาการผู้มีวิสัยทัศน์  ปี พ.ศ. 2559 ได้รับพระราชทานปริญญาปรัชญาดุษฎีบัณฑิตกิตติมศักดิ์ สาขาวิชาสื่อสารมวลชน มหาวิทยาลัยรามคำแหง จากความสำเร็จในงานด้านการพัฒนาและส่งเสริมแวดวงสื่อสารมวลชนของประเทศไทย

  ในปี พ.ศ. 2560 ได้รับแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่ง ประธานสมาคมสมาพันธ์เทคโนโลยีสารสนเทศ และการสื่อสารแห่งประเทศไทย เมื่อเดือนกรกฎาคม และในเดือนมิถุนายน พ.ศ. 2558 นายศุภชัยได้รับแต่งตั้งเป็น ประธานคณะกรรมการเครือข่ายโกลบอลคอมแพ็กประเทศไทย คนแรกของประเทศไทย ช่วยขับเคลื่อนการดำเนินงานในภาคธุรกิจภายใต้หลักสากลขององค์การสหประชาชาติ ในปีเดียวกันนั้น คุณศุภชัยเคยได้รับแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่ง นายกสมาคมโทรคมนาคมแห่งประเทศไทย ในพระบรมราชูปถัมภ์ชุดที่ 12 

 นอกจากนี้ ในเดือนตุลาคม 2561 คุณศุภชัยได้รับแต่งตั้งเป็น ที่ปรึกษากิตติมศักดิ์ สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย ในปี พ.ศ. 2562 คุณศุภชัยได้รับแต่งตั้งเป็น ที่ปรึกษาสมาคมอีเลิร์นนิงแห่งประเทศไทย 

 ในเดือนพฤษภาคม 2562 คุณศุภชัยมีความมุ่งมั่นและทุ่มเทอย่างสูงสุดในการจัดตั้งสภาดิจิทัลฯ ขี้นตามพระราชบัญญัติสภาดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมแห่งประเทศไทย พ.ศ. 2562 ด้วยความตั้งใจที่จะให้สภานี้ ได้ทำหน้าที่เป็นองค์กรสำคัญในการทำงานร่วมกับภาคเอกชน รัฐบาล และภาคประชาชน นำไปสู่การเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันด้านดิจิทัล การพัฒนาบุคคลากรด้านดิจิทัล ให้เกิดการประยุกต์ใช้เพื่อให้เกิดการพัฒนาประเทศอย่างยั่งยืน  และในปีเดียวกัน คุณศุภชัยได้รับการแต่งตั้งจากคณะกรรมการสภาดิจิทัลฯ ให้ดำรงตำแหน่งประธานสภาดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมแห่งประเทศไทยเป็นคนแรก

 6. ทรรศนะต่อวงการวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี

 • คุณศุภชัยในฐานะประธานสภาดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมแห่งประเทศ ตระหนักถึงความสำคัญของการนำวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีร่วมผลักดันให้เกิดประโยชน์สูงสุดในทุกๆด้าน เพื่อขับเคลื่อนประเทศให้ก้าวไกล โดยทุ่มเทนำองค์ความรู้ ความเชี่ยวชาญ และประสบการณ์ตลอดการทำงานในแวดวงอุตสาหกรรมโทรคมนาคม มาร่วมยกระดับสร้างคุณค่าให้แก่คนในสังคมไทยอย่างต่อเนื่อง 

 • ด้วยวิสัยทัศน์ที่กว้างไกล นายศุภชัย ได้เล็งเห็นถึงแนวโน้มของโลกยุคดิจิทัลที่หมุนไปอย่างรวดเร็ว จึงผลักดันให้เกิดการใช้เทคโนโลยีดิจิทัลที่เร็วขึ้น  อีกทั้งยังให้ความสำคัญของการเตรียมพร้อมประเทศไทยที่ต้องเผชิญกับการเปลี่ยนผ่าน หรือ Transform สู่ระบบเศรษฐกิจใหม่ โดยตั้งเป้าหมายให้ประเทศไทยก้าวสู่การเป็นศูนย์กลางเทคโนโลยีของโลก อีกมีแนวคิดกำหนดเป้าหมายขับเคลื่อนประเทศสู่ New Economy (หลังวิกฤตโควิด-19) ซึ่งประกอบไปด้วย 5 เป้าหมาย

เป้าหมายแรก สร้างตัวชี้วัดใหม่แก่ประเทศไทย เช่น ตัวชี้วัดด้าน Digital Infrastructure หรือโครงสร้างพื้นฐานด้านดิจิทัลของประเทศ โดยชี้วัดจากศักยภาพในการเข้าถึงเทคโนโลยีดิจิทัล เช่น ความสามารถในการใช้ภาษาอังกฤษ และภาษาจีน เป็นต้น เนื่องจากองค์ความรู้ใหม่ๆ ของโลกล้วนมาจากประเทศที่ใช้ภาษาอังกฤษและภาษาจีน ดังนั้น การสร้างตัวชี้วัดใหม่ คือการสร้างมาตรฐานใหม่ ซึ่งจะสร้างความตระหนักรู้ในการเปลี่ยนแปลงประเทศให้พร้อมรองรับอนาคต 4.0 

 เป้าหมายที่ 2 สร้างความร่วมมือระหว่างภาครัฐ ภาคเอกชน ภาคประชาสังคม และภาควิชาการ   

 เป้าหมายที่ 3 สร้างและพัฒนา Digital Manpower   ด้วยการสร้างทักษะ upskill และ/หรือ reskill ด้านดิจิทัลแก่บัณฑิตจบใหม่ของไทย ให้มีทักษะใหม่ที่สอดคล้องกับความต้องการใหม่ๆ 

 เป้าหมายที่ 4 Digitalization   เแต่ละอุตสาหกรรม รวมถึงสตาร์ทอัพ ต้องปรับตามการเปลี่ยนแปลงของโลก นำเทคโนโลยีดิจิทัลมาใช้ในองค์กร พร้อมรับมือการเปลี่ยนแปลงต้องอย่างรวดเร็ว 

 เป้าหมายที่ 5 วางยุทธศาสตร์ให้ประเทศไทยเป็น Hub ในระดับภูมิภาค โดยต้องมีระบบนิเวศ  ที่เอื้ออำนวยให้ก้าวสู่การเป็นศูนย์กลางด้านการค้าการลงทุนที่ขับเคลื่อนโดยเทคโนโลยีและดิจิทัล เช่น การดึงคนเก่งจากทั่วโลกเข้ามาช่วยให้ไทยเป็น Hub ด้านเทคโนโลยี ส่งเสริมงานวิจัยและพัฒนา หรือมี Intelligent Center เพื่อดึงนักวิจัย Start up ด้านเทคโนโลยีที่เก่งๆ รวมไปถึงผู้ประกอบการที่มีศักยภาพเข้ามาประเทศไทย และส่งเสริมให้ผลิตคนที่มีศักยภาพด้านเทคโนโลยีให้มากขึ้น 

 7. ความภาคภูมิใจและรางวัลเกียรติยศที่ได้รับ

พ.ศ. 2563 :  รางวัล “เสาอโศกผู้นำศีลธรรม ประจำปี 2563” จากสมาคมผู้ทำคุณประโยชน์เพื่อพระพุทธศาสนาแห่งประเทศไทย ร่วมกับมหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย ศูนย์ส่งเสริมพระพุทธศาสนาแห่งประเทศไทย ในพระสังฆราชูปถัมภ์

พ.ศ. 2562 :  เข็มประกาศเกียรติคุณผู้ทำคุณประโยชน์สูงสุดต่อสำนักงานตำรวจแห่งชาติ    

พ.ศ. 2562 :  รางวัล “คนไทยตัวอย่าง” ครั้งที่ 6 ประจำปี 2562 สาขาสื่อสารมวลชนตัวอย่างดีเด่น จากสมัชชานักจัดรายการข่าววิทยุโทรทัศน์หนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย

พ.ศ. 2562 :  เกียรติคุณวิทยฐานะ “ปูชนียบุคคลไทย” ประจำปี 2562 สาขาผู้ส่งเสริมศาสนาดีเด่น จากสมาคมสื่อมวลชนเอเชีย (ประเทศไทย) ร่วมกับสภาเครือข่ายส่งเสริมสังคมไทย

พ.ศ. 2561 :  โล่เกียรติคุณ “อัสสัมชนิกดีเด่น” กลุ่มนักธรกิจ ประจำปี 2561 จากโรงเรียนอัสสัมชัญ

พ.ศ. 2560 :  รางวัล “ผู้ทำคุณประโยชน์ดีเด่นด้านทรัพยากรมนุษย์” (Human Resource Excellence Award) ประจำปี 2560 จากสถาบันทรัพยากรมนุษย์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์

พ.ศ. 2558 :  รางวัล “2015 Frost & Sullivan Asia Pacific Telecom CEO of the Year” ในงานประกาศผล “The Asia Pacific ICT Awards” ณ ประเทศสิงคโปร์

พ.ศ. 2558 :  รับพระราชทานรางวัล “เสาเสมาธรรมจักร” เนื่องในเทศกาลวิสาขบูชา ประจำปี 2558

พ.ศ. 2553 :  โล่เกียรติยศ “บุคคลตัวอย่างภาคธุรกิจเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร” จากมูลนิธิสภาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งประเทศไทย ในงานประกาศเกียรติคุณบุคคลคุณภาพแห่งปี 2010

พ.ศ. 2549 :  รางวัล “บุคคลดีเด่น” ด้านโทรคมนาคม (Telecom Man of the Year 2006)  

พ.ศ. 2549 :  รางวัล “เปรียว อวอร์ด 2006” สาขาธุรกิจการตลาด จากนิตยสารเปรียว

พ.ศ. 2537 :  รางวัล “นักบริหารดีเด่น ประจำปี 2537” (สมเด็จพระญาณสังวร สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆ ปริณายก)                                                 

8. หลักปฏิบัติต่อครอบครัว

• ค่านิยมหนึ่งที่คุณศุภชัยได้รับการปลูกฝังบ่มเพาะจากครอบครัวมาโดยตลอด คือ ‘ความกตัญญูกตเวที’  คุณศุภชัยเชื่อมั่นเสมอมาในคุณค่าของ ‘ความกตัญญู’ พร้อมให้นิยามคุณธรรมนี้ว่าเป็น ‘รักแรก’ และ ‘รักแท้’ ของทุกคน ซึ่งเริ่มจากความรู้สึกซาบซึ้งกับสิ่งที่ได้รับ พร้อมที่จะตอบแทนและเป็นผู้ให้กลับคืน 

• อีกหลักปฏิบัติสำคัญที่ ใช้เป็นแนวทางดำเนินชีวิต และก่อเกิดมาจากค่านิยมของครอบครัว คือ ความรักและความเห็นอกเห็นใจ  คุณศุภชัยมองว่า ความรัก เป็นอาวุธที่สร้างแรงบันดาลใจให้ทุกคนสามารถทำความฝันให้เป็นจริง หรือ PASSION เพราะทุกคนจะใส่ใจในสิ่งที่ทำอย่างมีความสุข

 9. การใช้เวลาว่างอื่นๆ

  อ่านหนังสือ เล่นกีฬา ออกกำลังกาย

มูลนิธิสภาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งประเทศไทย (มสวท.)

กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี

สถานที่ติดต่อ :

288/52 อาคารมูลนิธิ มสวท. ถนนพหลโยธิน แขวงอนุสาวรีย์ เขตบางเขน กรุงเทพมหานคร 10220

Tel. +66(0) 2552-5200 Fax. +66(0) 2551-4422 Email : thaifstt@gmail.com 

Copyright © 2008-2015 หากมีปัญหาในการรับชมกรุณาติดต่อ Webmaster ที่ admin@thaifstt.org